กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือ
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือ สวัสดิการของบริษัทในรูปแบบกองทุนที่นายจ้างจัดทำให้ลูกจ้างที่มีความสมัครใจ โดยนายจ้างที่เป็นบริษัทเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจ จะเก็บเงินสะสมสำหรับลูกจ้างไว้บวกกับเงินสมทบที่ฝั่งนายจ้างออกให้ลูกจ้าง เพื่อเป็นหลักประกันเพื่อความมั่นคงทางการเงิน เเละเป็นการออมเงินให้กับพนักงาน
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้รับดูเเลตามกฏหมายของรัฐ ภายใต้พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ตามหลักเเล้ว กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะมีเงินสองส่วน คือ ที่เก็บจากลูกจ้างเเละนายจ้างดังนี้
– เงินสะสม เป็นเงินที่ลูกจ้างยินยอมให้นายจ่ายเข้ากองทุนทุกเดือน ตามกฎหมายให้สะสมได้ 2 – 15% ของเงินเดือน
– เงินสมทบ เป็นเงินที่นายจ้างจ่ายสบทบเข้ากองทุนให้ลูกจ้าง ตามกฎหมายให้สมทบได้ไม่ต่ำกว่า 2 – 15% ของเงินเดือน
นายจ้างจะให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน นำเงินในกองทุนไปลงทุนให้ได้ผลงอกเงย ไม่ว่าจะในรูปแบบ ตราสารหนี้ ตราสารทุน หุ้นกู้ หุ้นสามัญ เเละนำกำไรมาเฉลี่ยให้กับสมาชิกในกองทุนตามสัดส่วนเงินของแต่ละคนมีอยู่ ในทุกเดือนบริษัทจะส่งรายงานผลการจัดการกองทุนให้ลูกจ้าง
เงื่อนไขเกี่ยวกับการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพคือ
นายจ้างส่วนใหญ่จะกำหนดสิทธิรับเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบที่ลูกจ้างพึงได้ตามอายุงาน
ยกตัวอย่าง เช่น ลูกจ้างที่มีอายุการทำงาน 1- 5 ปี ได้รับเงินส่วนของนายจ้าง 50% และลูกจ้างทำงานครบ 5 ปี ขึ้นไปได้ 100% เมื่อลาออก
ถ้าลูกจ้าง A ทำงาน 2 ปีเเละต้องการลาออก ก็จะได้เงินในส่วนที่ตัวเองสะสมไว้เเละผลประโยชน์จากเงินสะสมเต็มก้อน และได้รับเงินสมทบเเละผลประโยชน์ของเงินสมทบที่เป็นส่วนของนายจ้าง 50% เป็นต้น
ประโยชน์ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือ
สำหรับลูกจ้าง
– ลูกจ้างได้ออมเงินอย่างต่อเนื่อง มีเงินสมทบนอกเหนือจากเงินเดือนที่นายจ้างสมทบจ่ายให้
– ลูกจ้างได้รับสิทธิทางภาษี เงินที่ได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่ต้องเสียภาษี
– ลูกจ้างนำเงินไปใช้หลังเกษียณ ลาออกจากงาน ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิตได้
สำหรับนายจ้าง
– ประโยชน์ทางภาษี เงินสมทบที่นายจ้างออกให้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนำมาเป็นค่าใช้จ่ายบริษัทได้
– เป็นสวัสดิการที่ดี ช่วยจูงใจให้ลูกจ้างทำงานกับบริษัทนานขึ้น ดึงดูดลูกจ้างใหม่ๆให้เข้ามาทำงานร่วมกับบริษัท
– ลดอัตราการลาออกของลูกจ้าง
การรับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
บริษัทที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ลูกจ้าง จะไม่มีการจ่ายดอกเบี้ยหรือเงินปันผลให้สมาชิกระหว่างเดือน แต่จะจ่ายเงินคืนทั้งก้อนที่เป็นเงินสะสมเเละผลประโยชน์จากเงินสะสม ให้ลูกจ้างเมื่อสิ้นสุดการเป็นสมาชิก เช่น ลาออกจากงาน เกษียณอายุ เป็นต้น นอกจากนี้ กองทุนจะไม่ให้สมาชิกถอนเงินออกบางส่วน เพราะจะเป็นการเปิดโอกาสให้สมาชิกนำเงินไปใช้ซึ่งไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการออมเงินเพื่อไว้ใช้หลังเกษียณ
สนใจปรึกษาเกี่ยวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ติดต่อบลจ. พรินซิเพิล https://www.principal.th/th/provident-fund